เวลาทำการ

จันทร์-เสาร์

09-00-18.00 น.

เราช่วยคุณได้

@up2utour

Travel License : 11/09846

หน้าแรก

/

บทความท่องเที่ยว

/

วัดโพธิ์ ที่เที่ยวกรุงเทพ สักการะ พระนอน

วัดโพธิ์ ที่เที่ยวกรุงเทพ  สักการะ พระนอน

24

Jan

วัดโพธิ์ ที่เที่ยวกรุงเทพ สักการะ พระนอน

          ถ้าพูดถึงสถานที่ ที่มากรุงเทพแล้วต้องแวะไปให้ได้ ก็ต้องเป็น "วัดโพธิ์" หรือชื่อเต็มคือ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" ถือเป็นวัดที่สวยงามแห่งหนึ่งในกรุงเทพเลยก็ว่าได้ ถ้าใครไปกรุงเทพก็อย่าลืมแวะไปไหว้พระและเดินชมวัดสวยๆกันน้าาาา

ประวัติ วัดโพธิ์

          วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดโพธิ์ เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในหลวงรัชกาลที่ 1 ค่ะ อีกทั้งยังเรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยด้วย ซึ่งทางยูเนสโกก็ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น มรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อเดือนมีนาคม ในปีพ.ศ. 2551 และยังมีการขึ้นทะเบียนจารึกภายในวัดจำนวนกว่า 1,440 ชิ้น ให้เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติด้วยเช่นกันค่ะ 

โดยในช่วงรัชกาลที่ 3 ก็มีการโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะ วัดโพธิ์ นี้ทั้งหมด และมีการนำตำราวิชาการด้านต่างๆ มาจารึกไว้โดยรอบนั่นเอง เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน แต่ถ้าพูดถึงไฮไลท์ภายในวัดเลย ก็คือ พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ หรือพระนอนองค์ใหญ่นี้ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ขนาดยาว 46 เมตร สูง 15 เมตร โดยที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ประการอีกด้วยค่ะ ถือได้ว่าเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษตามคติตามแบบของอินเดีย 
          

เกร็ดความรู้

          พระอารามหลวงแห่งนี้ มีเนื้อที่ ๕๑ ไร่ ๒ งาน ๙๘ ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพนขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจนมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้วทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือวัดสลัก (วัดมหาธาตุ) ด้านใต้ คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อพ.ศ. ๒๓๓๑ เสด็จวัดโพธาราม มีสภาพทรุดโทรม ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๓ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอุโบสถอันดับแรก ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยน ท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”

พระนอนวัดโพธิ์

          พระพุทธไสยาส หรือที่เรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาสภายในเขตพุทธาวาส พระพุทธไสยาส เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามโดยเฉพาะศิลปะการประดับมุกที่ฝ่าพระบาท ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนอนองค์ใหญ่ที่มีความงดงามเป็นเอกในบรรดาพระนอนด้วยกันเป็นที่เคารพสักการะ เลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นับเป็นพระพุทธปฏิมากรสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่บ้านเมืองอย่างหนึ่ง ทั้งยังนับเนื่องอยู่ในคติการไหว้พระ ๙ วัด ของพุทธศาสนิกชน โดยมีคติว่าจะได้ ร่มเย็นเป็นสุข

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล

          พระมหาเจดีย์ทั้งสี่องค์อยู่ในบริเวณกำแพงสีขาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เครื่องถ้วยหลากสี มีตุ๊กตาหินจีนประตูละคู่ พระมหาเจดีย์แต่ละองค์เป็นเจดีย์ย่อไม้สิบสองเพิ่มมุมสูง ๔๒ เมตร ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายต่างๆ สังเกตได้ง่าย
1. พระมหาเจดีย์องค์ประกอบด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว นามว่า พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อครอบพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง ๑๖ เมตร ได้ชะลอมาจากพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา ภายในบรรจุพระบรมธาตุ นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑
2. พระมหาเจดีย์องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว นามว่า พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระบรมราชชนก คือรัชกาลที่ ๒ นับเป็นพระมหารัชกาลที่ ๒
3. พระมหาเจดีย์องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง นามว่า พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชถวายอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระองค์
4. พระมหาเจดีย์องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงินเข้ม เป็นพระมหาเจดีย์ที่รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างขึ้นตามแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย กรุงศรีอยุธยา นามว่า พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัยไว้ ๑ องค์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ครั้นใกล้จะเสด็จสวรรคตได้มีพระราชดำรัสเฉพาะกับรัชกาลที่ ๕ ว่า "พระเจดีย์วัดพระเชตุพนฯ นั้นกลายเป็นใส่คะแนนพระเจ้าแผ่นดินไป ถ้าจะใส่คะแนนอยู่เสมอจะไม่มีที่สร้าง ควรจะถือว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งสี่พระองค์นั้นท่านได้เคยเห็นกันทั้งสี่ พระองค์จึงควรมีพระเจดีย์อยู่ด้วยกัน ต่อไปอย่าให้ต้องสร้างทุกแผ่นดินเลย" (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เรื่อง จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี)

พระอุโบสถ

          พระอุโบสถ ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชน เขตวิสุงคามสีมา หรือพระอุโบสถ เป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญที่สุด โดยสร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย และขยายใหญ่ขึ้นเท่าที่เห็นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซุ้มจรณัมประจำประตูหน้าต่างฉลัก (สลัก) ด้วย ไม้แก่น ยอดเป็นทรงมงกุฎลงรักปิดทอง ประดับกระจก บานประตูพระอุโบสถ ด้านนอกลายประดับมุก เป็นลายภาพเรื่อง รามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำรูปพัดยศพระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตร ฐานานุกรมเปรียญทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ นามว่า พระพุทธเทวปฏิมากร ที่ฐานชุกชีก่อไว้ ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ บรรจุพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๑ ไว้ ชั้นที่ ๒ ประดิษฐานรูปพระอัครสาวกทั้งสององค์ฐานชุกชี ชั้นล่างสุดประดิษฐาน พระมหาสาวก ๘ องค์ (พระอรหันต์ ๘ ทิศ) จิตรกรรมประดับผนังพระอุโบสถเหนือต่างขึ้นไปเขียนเรื่องมโหสถบัณฑิต (มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร) คอสองในประธานทั้งสองข้างเขียนเรื่องเมืองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ผนังประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์บานหน้าต่างด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ใน กรุงและหัวเมือง สมัยรัชกาลที่ ๓ ด้านนอกแกะสลักเป็นลายแก้วชิงดวง

พระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)

          พระมณฑป หรือ (หอไตรจตุรมุข) รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนา เป็นสถาปัตยกรรมจตุรมุขเครื่องยอดทรงมงกุฎ ประดับกระเบื้องเคลือบและถ้วยหลากสี ลวดลายงามวิจิตร ภายในมีตู้เก็บพระไตรปิฎก มีศาลาทิศรอบพระมณฑป ผนังภายในศาลาทิศมีภาพจิตรกรรม กำเนิดรามเกียรติ์ ประเพณีรามัญกวนข้าวทิพย์ เป็นต้น ผนังภายนอกมีศิลาจารึกโคลงสุภาษิต เรียกว่า โคลงโลกนิติ ที่ซุ้มประตูทางเข้ามณฑปทั้งสองข้างมียักษ์วัดโพธิ์ ที่มีตำนานเล่าว่าไปรบกับยักษ์วัดแจ้งจนเป็นต้นกำเนิดท่าเตียน

เขามอและเขาฤาษีดัดตน

          เขามอ หรือสวนหย่อม เป็นสวนหินปลูกไม้ เขาฤาษีดัดตน เป็นรวบรวมการแพทย์แผนโบราณ และศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ เป็นการพักผ่อนอิริยาบถ แก้ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ประยุกต์รวมกับคติไทยที่ยกย่องฤาษีเป็นครู ปัจจุบันเดิมมีทั้งหมด ๘๐ ท่า แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่ ๒๔ ท่า รูปปั้นฤาษีดัดตน เป็นท่าตรงตามหลักโยคะ ของโยคีอินเดียเป็นการออกกำลังกายที่ใช้ศิลปะ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง นอกจากนั้นยังมีโคลงสี่สุภาพ ซึ่งจารึกไว้ในแผ่นศิลาประดับอยู่ตามศาลาราย ปัจจุบันได้รวบรวมไว้ที่ศาลาราย เช่น ศาลาเปลื้องเครื่อง (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ) เป็นต้น โคลงภาพฤาษีดัดตน เป็นตำรากายภาพบำบัดของแพทย์ไทย แผนโบราณอันเป็นพระราชประสงค์ ขององค์พระพุทธบุรพมหากษัตริย์ที่ทรงพระราชดำริให้วัดนี้เป็นแหล่งรวมวิชาการ

ตุ๊กตาจีน

          อีกหนึ่งเสน่ห์ของวัดโพธิ์ ็คือรูปสลักหินจีนทั้งหลายที่ตั้อยู่ประดับตามซุ้มประตูและที่ต่างๆ มีทั้งสลักจากหินและปูนปั้น สมัยก่อนคนจะใช้เป็นเครื่องอับเฉาที่ใช้เป็นอุปกรณ์ถ่วงเรือสำเภาตอนขากลับจากการพาณิชย์นาวีที่ประเทศจีน พอไม่ได้ใช้งานแล้วก็เอามาตั้งประดับเพื่อควาทมสวยงาม รูปปั้นก็จะมีตั้งแต่  ลั่นถัน,  ตุ๊กตาจีนแต่งกายแบบฝรั่ง,  ตุ๊กตาจีนขุนนางฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายบุ๋น,  ตุ๊กตาจีนนักปราชญ์หรือซิ่วจ๋าย,  ตุ๊กตาจีนสามัญชน, ตุ๊กตาสาวจีน ไปจนถึง  ตุ๊กตารูปสิงโตคาบแก้ว

จำนวนผู้เข้าชม 135 ครั้ง